Narodnik; Russian Populism

นารอดนิค; รัสเซียปอปปูลิสต์

​     นารอดนิคหรือที่เรียกกันทั่วไปว่ารัสเซียปอปปูลิสต์เป็นขบวนการปฏิวัติของปัญญาชนรัสเซียในทศวรรษ ๑๘๗๐ เป็นขบวนการสังคมนิยมของรัสเซียรุ่นบุกเบิกที่ ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอะเล็กซานเดอร์ อีวาโนวิช เฮอร์เซน (Alexander Ivanovich Herzen)* ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักคิดสังคมนิยมคนแรกของรัสเซีย พวกนารอดนิคเชื่อมั่นว่าชาวนาคือพลังสำคัญของการปฏิวัติคอมมูนชาวนาหรือชุมชนหมู่บ้าน (Mir) เป็นพื้นฐานของการจัดระเบียบทางสังคมของสังคมนิยม หากชาวนาตื่นตัวทางการเมืองและยอมรับอุดมการณ์สังคมนิยมที่ปัญญาชนชี้แนะ ชาวนาจะลุกฮือก่อการปฏิวัติโค่นล้มระบบซาร์ ชัยชนะของการปฏิวัติของชาวนาจะทำให้รัสเซียสามารถก้าวกระโดดเป็นสังคมนิยมได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการปฏิวัติตามแนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism)* อย่างไรก็ตาม ชาวนาไม่เข้าใจและ

ไม่ยอมรับแนวความคิดทางการเมืองของปัญญาชน การเคลื่อนไหวปลุกระดมชาวนาของปัญญาชนจึงถูกตำรวจกวาดล้างใน ค.ศ. ๑๘๗๗ และนำไปสู่ความขัดแย้งทาง ความคิดเกี่ยวกับยุทธวิธีและแนวนโยบายภายในขบวนการปฏิวัติรัสเซียจนทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติของพวกนารอดนิคหมดบทบาทลงในปลายทศวรรษ ๑๘๘๐
     เมื่อซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑)* ทรงประกาศใช้พระราชกฤษฎีการปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (Edict of Emanicipation)* ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ เพื่อปฏิรูปสังคมและปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (serf) จำนวนกว่า ๒๓ ล้านคนให้เป็นอิสระจากการกดขี่ของพวกขุนนางเจ้าที่ดิน พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้นำไปสู่การปฏิรูปทางด้านอื่น ๆ อีก และมีส่วนทำให้พระองค์ ทรงได้รับพระสมัญญาว่า "ซาร์ผู้ปลดปล่อย" (Tzar Liberator) แต่เงื่อนไขการปลดปล่อยทาสติดที่ดินซึ่งซับซ้อนที่กำหนดให้ทาสติดที่ดินทุกคนยกเว้นทาสในครัวเรือน (household serf) ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินที่ได้รับครอบครัวละ ๒๒.๕ ไร่แก่รัฐและคอมมูนโดยกำหนดระยะเวลาของการผ่อนชำระไว้ ๔๙ ปี ทำให้ปัญญาชนโดยเฉพาะอะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซนที่เคยสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปของซาร์หันมาต่อต้าน เพราะเขาเห็นว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงถูกขุนนางเจ้าที่ดินเอารัดเอาเปรียบและมีชีวิตแร้นแค้นไม่แตกต่างจากการเป็นทาสติดที่ดินเท่าใดนัก เฮอร์เซนซึ่งสนับสนุนแนวความคิดของพวกสลาฟนิยม (Slavophiles) ที่เชื่อมั่นว่าคอมมูนหรือชุมชนหมู่บ้านชาวนาเป็นสถาบันรากฐานของสังคมและวัฒนธรรมรัสเซีย จึงหันมาเคลื่อนไหวต่อต้านซาร์ และพัฒนาแนวความคิดของพวกสลาฟนิยมให้ก้าวหน้า เขาเห็นว่าคอมมูนชาวนาคือพื้นฐานของการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมตามแนวความคิดสังคมนิยม หากปรับปรุงให้ก้าวหน้าขึ้นด้วยการผสมผสานแนวความคิดตะวันตกว่าด้วยเกียรติภูมิและเสรีภาพส่วนบุคคลเข้าไปก็จะสามารถพัฒนาเป็นระบบสังคมนิยมที่เป็นรูปแบบเฉพาะของรัสเซียได้ ชาวนาจึงเป็นพลังหลักของการปฏิวัติในการลุกฮือโค่นล้มระบบซาร์โดยปัญญาชนมีหน้าที่ติดอาวุธทางความคิดปฏิวัติแก่ชาวนาเพื่อให้ชาวนาก่อการปฏิวัติขึ้น เฮอร์เซนซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศจึงเริ่มเคลื่อนไหวทางความคิดแก่ปัญญาชนโดยใช้วารสารรายปักษ์ Kolokol เป็นเครื่องมือปลุกระดมและจัดตั้งแนวความคิดทางการเมือง เขาเรียกร้องให้ปัญญาชนสละความสุขสบายส่วนตัวด้วยการไปทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับชาวนา ตลอดจนช่วยเตรียมชาวนาให้พร้อมในการก่อการปฏิวัติโค่นอำนาจซาร์ ขบวนการ "ไปหาประชาชน" (Khozdenie v narod - Go to the People) จึงก่อตัวขึ้นและพัฒนาเป็นแนวความคิดสังคมนิยมแรกในรัสเซียโดยมีชื่อเรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าขบวนการนารอดนิคหรือรัสเซียปอปปูลิสต์
     แนวความคิดสังคมนิยมของเฮอร์เซนได้รับการสานต่อโดยนิโคไล เชียร์นีเชฟสกี (Nikolai Chernyshevsky)* นักวิจารณ์วรรณกรรมและนักคิดนารอดนิคเชียร์นีเชฟสกีร่วมกับกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้าจัดทำนิตยสารการเมืองชื่อ The Contemporary เรียกร้องให้ปัญญาชนช่วยกันสร้างสรรค์งานเพื่อสังคมและปลุกจิตสำนึกการเมืองของชาวนาซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

เขาชี้นำแนวทางปฏิบัติให้แก่ปัญญาชนด้วยการให้ปัญญาชนกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของชาวนาและกระตุ้นจิตสำนึกสังคมนิยมของชาวนาให้ตื่นขึ้นเพื่อก่อการปฏิวัติ หนังสือการเมืองเล่มสำคัญของเชียร์นีเชฟสกี เรื่อง What is to Be Done? Tales About the New People ( ค.ศ. ๑๘๖๒) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมและการพลีชีพต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมแห่งความเสมอภาคได้กลายเป็นหนังสือคู่มือการปฏิวัติของปัญญาชนและมีอิทธิพลทาง ความคิดต่อขบวนการนารอดนิคอย่างมากระหว่างกลางทศวรรษ ๑๘๖๐ ถึงทศวรรษ ๑๘๗๐ ปัญญาชนที่สนใจการปฏิวัติตามเมืองมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ต่างจับกลุ่มรวมตัวกันศึกษาแนวความคิดทั้งของเฮอร์เซน และเชียร์นีเชฟสกีกันมากขึ้น
     นอกจากเชียร์นีเชฟสกีแล้ว ปีเตอร์ ลัฟรอฟ (Peter Lavrov) อดีตนายทหารที่ต่อต้านซาร์ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศก็เสนอความคิดเกี่ยวกับพันธะหน้าที่และบทบาทของปัญญาชนในบทความชุด Historical Letters ( ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๘๖๙) ลัฟรอฟเห็นว่าปัญญาชนที่มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มและเคลื่อนไหวปฏิบัติงานในลักษณะองค์การหรือพรรคคือพลังผลักดันในการเปลี่ยนแปลงสังคม หน้าที่ ของปัญญาชนคือการอุทิศตนเพื่อติดอาวุธทางความคิดสังคมนิยมให้แก่ชาวนา หากชาวนาเข้าใจความหมายของการปฏิวัติและพร้อมที่จะก่อการ ไฟปฏิวัติจะลุกลามขึ้นทั่วประเทศและรัสเซียจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้งใหญ่ ลัฟรอฟยังชี้แนะว่าเมื่อการปฏิวัติเกิดขึ้นและหลังการปฏิวัติสิ้นสุด องค์การพรรคของปัญญาชนปฏิวัติจะทำหน้าที่ปกครองในระบอบเผด็จการเพื่อดำเนินการลดช่องว่างทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคมจากระบอบซาร์สู่สังคมนิยม
     ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีฮาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin)* นักอนาธิปัตย์หัวรุนแรงซึ่งลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีสก็เรียกร้องปัญญาชนให้ใช้แนวทางความรุนแรงด้วยการก่อจลาจลและจุดชนวนลุกฮือด้วยอาวุธให้แก่ชาวนา แนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติทั้งของลัฟรอฟและบาคูนินมีส่วนทำให้ปัญญาชนเข้าใจเป้าหมายของการปฏิวัติและมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น การเคลื่อนไหวทางความคิดของปัญญาชนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ
     ระหว่างกลาง ค.ศ ๑๘๗๓-๑๘๗๔ เกิดทุพภิกขภัยบริเวณลุ่มแม่น้ำดอนและแม่น้ำวอลกา (Volga) ความเดือดร้อนและทุกข์ยากดังกล่าวกระตุ้นปัญญาชนให้ตระหนักถึงพันธะหน้าที่ในการจะช่วยเหลือประชาชนแนวความคิดของเฮอร์เซนและนักคิดนารอดนิคคนอื่นๆที่เรียกร้องให้ปัญญาชนลง "ไปหาประชาชน" จึงปรากฏเป็นจริงขึ้นในทางปฏิบัติในกลาง ค.ศ. ๑๘๗๙ เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมเรียกว่า "ฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง" (mad summer days) เพราะปัญญาชนทั่วประเทศต่างเดินทางไปชนบทเป็นระลอกคลื่นอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายไปทำงานช่วยเหลือชาวนาและร่วมรับภาระความเดือดร้อนต่าง ๆ ตลอดจนการเผยแพร่ความคิดสังคมนิยม ประมาณว่าจำนวนปัญญาชนที่ไปชนบทมีกว่า ๓,๐๐๐ คน และหมู่บ้าน ๓๗ จังหวัดจากจำนวน ๔๙ จังหวัดแถบลุ่มแม่น้ำดอนและแม่น้ำวอลกาถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากภวังค์ให้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของพวกตน
     การเคลื่อนไหวไปชนบทของปัญญาชนครั้งนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการกันมาก่อนอิทธิพลทางความคิดของนักคิดสังคมนิยมนารอดนิคมีส่วนผลักดันปัญญาชนให้มีศรัทธาและมีความเชื่อมั่นที่จะเรียนรู้ชีวิตจากชาวนาและร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวนาพวกเขาตั้งความหวังที่จะช่วยปลดแอกอันกดขี่ของระบบเพื่อนำชาวนาไปสู่ชีวิตใหม่ที่เสมอภาค แต่ปัญหาสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยชิน การขาดแผนการดำเนินงานและไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนรวมทั้งชาวนาส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่อซาร์และยึดมั่นในจารีตประเพณี ตลอดจนไม่เข้าใจและยอมรับแนวความคิดสังคมนิยมที่ปัญญาชนพยายามชี้แนะและอื่น ๆ ก็มีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของปัญญาชนประสบความล้มเหลว นอกจากนี้ ตำรวจก็คอยติดตามการเคลื่อนไหวของปัญญาชน และตั้งเงินรางวัลสูงแก่ชาวนาที่รายงานกิจกรรมความเคลื่อนไหวของปัญญาชนและสามารถระบุตัวนักปลุกระดม เงินรางวัลดังกล่าวจึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาจำนวนไม่น้อยแจ้งข่าวแก่ตำรวจเพื่อจับกุมปัญญาชน เมื่อตำรวจตรวจค้นร้านค้าที่เมืองซาราคอฟก็พบว่าเป็นศูนย์กลางของเอกสารและหนังสือการเมืองที่ส่งมาจากมอสโกและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อกระจายไปตามชนบทและหัวเมืองต่าง ๆ การตรวจค้นดังกล่าวจึงนำไปสู่การกวาดล้างสายงานใต้ดินต่าง ๆ และก่อนที่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๘๗๔ จะสิ้นสุดลง ปัญญาชนกว่า ๑,๕๐๐ คนก็ถูกจับกุม
     แม้ขบวนการ "ไปหาประชาชน" จะประสบความล้มเหลว แต่ก็ให้บทเรียนแก่ปัญญาชนในการจะผนึกกำลังกันให้เข้มแข็งและทบทวนยุทธวิธีการเคลื่อนไหวปฏิวัติใหม่ พวกเขาเริ่มหันไปปลุกระดมความคิดทางการเมืองแก่กรรมกรซึ่งดูจะเข้าใจและยอมรับแนวความคิดสังคมนิยมได้ดีกว่าชาวนาและปรับโครงสร้างขององค์การให้รัดกุมและกะทัดรัดมากขึ้น ใน ค.ศ ๑๘๗๗ องค์การเคลื่อนไหวของพวกนารอดนิคใหม่ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นองค์การปฏิวัติแรกก็จัดตั้งขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยมีชื่อเรียกว่า กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ (Land and Freedom) แกนนำของกลุ่มหลายคนเป็นอดีตนักการเมืองที่มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวใต้ดินที่รวมศูนย์ที่เรียกว่า "องค์กรพื้นฐาน" (basic cell) ซึ่งมีองค์การย่อยรองรับอีก ๕ หน่วยคือ หน่วยงานการเมืองดูแลเรื่องทั่วไปทางการเมือง การจัดทำหนังสือใต้ดินและหนังสือเดินทางปลอมและอื่น ๆ หน่วยเคลื่อนไหวหน่วยที่ ๒-๔ เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและการเคลื่อนไหวในหมู่ปัญญาชนกรรมกรและชาวนา หน่วยที่ ๕ คือหน่วยปฏิบัติการด้านการจารกรรมและการก่อวินาศกรรมเป็นต้น แต่ละหน่วยจะมีแกนนำรับผิดชอบซึ่งจะรับคำสั่งจากองค์การพื้นฐานไปปฏิบัติและมีหน่วยรองของตนอีกเป็นลำดับขั้น ในการปฏิบัติงานกลุ่มที่ดินและเสรีภาพยึดหลักว่า ผลสำเร็จตัดสินวิธีการ (the end justified the means) และหากสมาชิกทรยศต่อกลุ่มจะถูกสังหาร
     กลุ่มที่ดินและเสรีภาพใช้ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อปลุกระดมมวลชนและขยายจำนวนสมาชิกตลอดจนเผยแพร่อุดมการณ์ของกลุ่มมีการจัดตั้งโรงพิมพ์ใต้ดินเพื่อผลิตและเผยแพร่แถลงการณ์ จุลสารใบปลิว ตลอดจนวารสารการเมืองรวม ๕ ฉบับ ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดการชุมนุมขึ้นในที่สาธารณะตามโอกาสและเงื่อนไขที่ จะเอื้ออำนวยเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การจัดการชุมนุมทางการเมืองเพื่อรำลึกถึงนักโทษการเมืองที่เสียชีวิตขณะถูกเนรเทศหรือร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของนักศึกษาระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๗-๑๘๗๘ เป็นต้นนอกจากนี้สมาชิกของกลุ่มจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* แกนนำคนสำคัญก็เริ่มเคลื่อนไหวจัดตั้งกรรมกรตามโรงงานใหญ่ ๆ ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในระยะเวลาอันสั้นกลุ่มที่ดินและเสรีภาพก็มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นและขยายตัวไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ

     ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๗๘ เวรา ซาซูลิช (Vera Zasulich)* บุตรสาวของนายทหารซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มที่ดินและเสรีภาพได้ยิงนายพลเตรปอฟ (Trepov) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กบาดเจ็บสาหัสเพราะเขาสั่งให้เฆี่ยนนักโทษการเมืองที่ไม่ยอมแสดงความเคารพเขา ซาซูลิชให้การต่อศาลว่า มูลเหตุการกระทำของเธอเป็นเพราะความรู้สึกด้านคุณธรรมของเธอถูกทำร้าย (moral outrage) ทั้งศาลและมวลชนต่างประทับใจคำให้การของเธอและประชาชนเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอ ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ศาลตัดสินให้เธอพ้นผิดในข้อหาพยายามฆ่าคน แต่ในข้อหาพัวพันกับองค์การใต้ดินนั้น เธอถูกตัดสินเนรเทศไปไซบีเรียในช่วงที่ศาลพิจารณาตัดสินคดีเกิดการจลาจลและความวุ่นวายทั้งภายในและนอกศาล ในช่วงความโกลาหลนั้นซาซูลิชได้รับความช่วยเหลือให้หลบหนีได้ และในเวลาต่อมาเธอลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์
     การลั่นกระสุนของซาซูลิชนับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเคลื่อนไหวปฏิวัติเพราะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการใช้ความรุนแรง กลุ่มที่ดินและเสรีภาพหันมาใช้วิธีการก่อภัยสยองต่อบุคคลและสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ พวกเขาอ้างว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมเพราะเป็นวิธีการเดียวที่สามารถจะปกป้องตนเองจากอำนาจรัฐ ทั้งเป็นการพิทักษ์เกียรติภูมิของกลุ่มจากการถูกย่ำยีและเป็นการล้างแค้นรวมถึงการสร้างความยุติธรรม การเคลื่อนไหวในแนวทางรุนแรงมีส่วนทำให้เอกภาพทางความคิดของกลุ่มแตกแยก การประชุมที่เมืองโวโรเนช (Voronezh) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๗๘ สมาชิกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าระบบทุนนิยมกำลังก่อตัวขึ้นในประเทศและทำลายรากฐานสังคมนิยมของคอมมูนหมู่บ้าน หากชาวนายังไม่พร้อมที่จะก่อการปฏิวัติปัญญาชนปฏิวัติก็ต้องปฏิบัติการก่อการร้ายและใช้วิธีการรุนแรงเพื่อผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้ายุทธวิธีดังกล่าวเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกว่าการปลุกระดมจัดตั้งความคิดทางการเมืองแก่ชาวนา ยิ่งรัฐบาลกวาดล้างและปราบปรามก็ยิ่งจำเป็นต้องตอบโต้รัฐบาลด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ความเห็นดังกล่าวทำให้กลุ่มที่ดินและเสรีภาพแบ่งแยกเป็นสองกลุ่มสมาชิกส่วนใหญ่ที่สนับสนุนการก่อการร้ายและวิธีการรุนแรงมีชื่อเรียกว่า กลุ่มเจตจำนงประชาชน (People’s Will)* หรือนารอดนายาวอลยา (Narodnaya Volya) ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนแนวทางสันติด้วยการปลุกระดมเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมในหมู่กรรมกรและชาวนาเรียกชื่อว่า กลุ่มแบ่งแยกดำ (Black Partiton) หรือเชียร์นี เปเรดยาล (Cherny Peredyal) ซึ่งมีเกออร์กี เปลฮานอฟเป็นผู้นำ
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๗๙ เป็นช่วงเวลาที่โชติช่วงของกลุ่มเจตจำนงประชาชน เพราะกลุ่มประสบความสำเร็จอย่างมากในการสังหารหัวหน้าตำรวจและ บุคคลสำคัญในแวดวงรัฐบาลหลายคนรวมทั้งการก่อวินาศกรรมจนทำให้ปฏิบัติการรุนแรงของกลุ่มเป็นที่หวาดผวากันไปทั่ว ในต้น ค.ศ. ๑๘๘๐ สมาชิกกลุ่มซึ่งปลอมตัวเป็นช่างไม้ทำงานที่พระราชวังฤดูหนาวได้วางระเบิดห้องประชุมในพระราชวังเพื่อมุ่งสังหารซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ แต่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ ณ ที่นั้น มีผู้เสียชีวิต ๑๑ คน บาดเจ็บ ๕๐ คน ในปีรุ่งขึ้น สมาชิกกลุ่มรวม ๕ คน ก็ประสบความสำเร็จในการปลงพระชนม์ซาร์ รัฐบาลจึงดำเนินการกวาดล้างและตามล่านักปฏิวัติอย่างเด็ดขาดทั้งปกครองประเทศอย่างเข้มงวดมากขึ้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มเจตจำนงประชาชนจึงหมดบทบาทลง และสมาชิกที่หนีรอดในเวลาต่อมาหันมาปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวใหม่ที่ประนีประนอมกับรัฐบาลซาร์มากขึ้น ส่วนกลุ่มเชียร์นี เปเรดยาลก็ถูกกวาดล้างเกือบหมด แต่เปลฮานอฟผู้นำสามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ และเขาเริ่มหันไปศึกษาแนวความคิดลัทธิมากซ์แทน การปราบปรามของรัฐบาลได้ทำให้ขบวนการนารอดนิคหมดบทบาทและอิทธิพลลง ในช่วงเวลาเดียวกันแนวความคิดลัทธิมากซ์ที่ปัญญาชนปฏิวัตินอกประเทศนำเข้ามาเผยแพร่ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในขบวนการปฏิวัติรัสเซียในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๙.



คำตั้ง
Narodnik; Russian Populism
คำเทียบ
นารอดนิค; รัสเซียปอปปูลิสต์
คำสำคัญ
- กลุ่มแบ่งแยกดำ
- การประชุมที่เมืองโวโรเนจ
- นารอดนิค
- กลุ่มเจตจำนงประชาชน
- ลัทธิมากซ์
- รัสเซียปอปปูลิสต์
- ขบวนการไปหาประชาชน
- เฮอร์เซน, อะเล็กซานเดอร์ อีวาโนวิช
- เชียร์นีเชฟสกี, นีโคไล กัฟรีโลวิช
- พระราชกฤษฎีการปลดปล่อยทาสติดที่ดิน
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒, ซาร์
- พวกสลาฟนิยม
- บาคูนิน, มีฮาอิล อะเล็กซานโดรวิช
- ฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง
- นารอดนายาวอลยา
- ลัฟรอฟ, ปีเตอร์
- วอลกา, แม่น้ำ
- กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ
- ซาซูลิช, เวรา
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี
- เปเรดยาล, เชียร์นี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf